การดูแลผู้ป่วยติดเตียงใน กทม. ด้วย Care Giver อาสาสมัครสาธารณสุข

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ สิ่งที่ตามมาคือความต้องการบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มที่ป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากการดูแลโดยญาติในชีวิตประจำวันแล้ว  ยังมีกลไกที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดระบบไว้ คือกองทุน Long Term Care โดยกองทุนนี้จะสนับสนุนงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ มีการวางแผนดูแลรายบุคคลโดย Care Manager ซึ่งส่วนมากคือพยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และมี Care Giver ซึ่งมักจะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่จะลงไปเยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ 

อย่างไรก็ดี ในพื้นที่เขตเมืองอย่างเช่นกรุงเทพมหานคร จะมีความซับซ้อนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ทั้งในแง่ของจำนวนประชากรที่หนาแน่น จำนวนบุคลากรและความครอบคลุมของหน่วยบริการปฐมภูมิ ฯลฯ ทำการบริหารจัดการผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงใน กทม. มีความแตกต่างจากที่อื่นเล็กน้อย โดยมีการรับสมัคร Care Giver จากคนทั่วไปในชุมชน เพื่อรับการอบรมและทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่เป็นเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนด้วยกันเอง

ยกตัวอย่างที่จะยกมาให้เห็นภาพ คือที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 47 คลองขวาง ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยบริการปฐมภูมิของกรุงเทพมหานคร ดูแลรับผิดชอบพื้นที่เขตภาษีเจริญโซนทิศเหนือ รวมประชากรในความดูแลกว่า 75,000 คน

นพ.อรรถพล ฉัตรอารียกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 47 คลองขวาง กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรในพื้นที่มีแนวโน้มเข้ามารับบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพื้นที่เขตภาษีเจริญ รวมถึงอีกหลายๆ เขตในกรุงเทพฯ ที่อยู่กึ่งๆ ระหว่างกรุงเทพฯชั้นในและกรุงเทพฯชั้นนอก จะมีประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากมีการขยายความเจริญออกจากกรุงเทพฯชั้นในออกมาข้างนอก อย่างที่เขตภาษีเจริญปัจจุบันมีรถไฟฟ้ามาถึง ก็จะมีคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ หรือหมู่บ้านเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

นอกจากประชากรเพิ่มขึ้นแล้ว คนยังถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวกมากขึ้นจากนโยบายของ สปสช. ที่ขยายสิทธิบัตรทองให้สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ คือศูนย์บริการสาธารณสุขหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ทุกในกรุงเทพฯ 2 ปัจจัยนี้ทำให้จำนวนผู้รับบริการเพิ่มมากขึ้นมาก

ในส่วนของการดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน กรณีที่คนไข้สามารถเดินทางมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ ก็ให้บริการที่ศูนย์ฯ แต่ถ้าเป็นคนไข้ที่มาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง อัมพาต อัมพฤกษ์ หรือพิการทางสมองต่างๆ เดินไม่ได้ลุกนั่งลำบาก ก็จะมีการจัดทีมเข้าไปดูแลในชุมชน โดยเป็นทีมพยาบาลที่ดูแลเยี่ยมบ้านในชุมชน รวมทั้งประสานกับเครือข่ายที่มีอยู่ในชุมชน คือ เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และล่าสุดคือเครือข่าย Care Giver ในชุมชนนั้นๆ 

นพ.อรรถพล กล่าวว่า Care Giver จะดูแลผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือกลุ่มติดบ้านติดเตียง โดยมีเกณฑ์ประเมิน ADL ว่าผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากน้อยขนาดไหน ผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คะแนน ADL 5-11 ถือเป็นกลุ่มที่ป่วยน้อยแต่ยังถือว่าเป็นกลุ่มติดบ้าน แต่ไม่มีภาวะทางสมอง กลุ่มที่ 2 ADL 5-11 แต่มีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง
กลุ่มที่ 3 ADL 0-4 ถือเป็นผู้ป่วยติดเตียงแต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน กลุ่มที่ 4 ADL 0-4 และมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่คาดว่าจะมีชีวิตอีกไม่นาน
ผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ทางศูนย์ฯ จะจัดสรร Care Giver ให้เข้าไปดูด้วยความถี่ไม่เท่ากัน ถ้าเป็นกลุ่มที่ 1 จะถือว่าป่วยน้อยสุด ก็จะเข้าไปเยี่ยมเดือนละ 2 ครั้ง กลุ่มที่ 2 และ 3 เข้าไปเยี่ยมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และกลุ่มที่ 4 ซึ่งป่วยหนักสุดจะเข้าไปเยี่ยมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

นพ.อรรถพล กล่าวอีกว่า ด้วยความที่แนวโน้มประเทศได้เข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในอีกไม่กี่ปี การดูแลผู้สูงอายุโดยลูกหลานเอง อาจจะไม่สามารถทำได้ทุกบ้านหรือทำได้ไม่ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องใช้เพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนที่มาอบรมเป็น Care Giver เข้าไปช่วยดูแลเสริมด้วย อีกทั้ง Care Giver จะเป็นตัวเชื่อมช่วยดูแล ช่วยแจ้งข่าวต่างๆ กับทางทีมพยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุขที่ทำหน้าที่เป็น Care Manager 

“เราไม่สามารถมีพยาบาลเข้าไปดูแลใกล้ชิดสัปดาห์ละ 2 ครั้งได้ทุกคน แต่ว่าถ้าฝึกอบรม Care Giver ที่เป็นเพื่อนบ้านในชุมชนขึ้นมา เขาเหล่านี้สามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยได้บ่อย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หลายๆเคสไปช่วยดูแลแทบทุกวันก็มี เพราะเป็นเพื่อนบ้านกัน มีอะไรก็ปรึกษากัน ซึ่งต้องบอกว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องและสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศ อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรในชุมชน ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งร่วมมือช่วยกันดูแลคนในชุมชนด้วยกันเอง” นพ.อรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ ขั้นตอนกว่าจะเข้ามาเป็น Care Giver นั้น ทางศูนย์ฯจะประชาสัมพันธ์ว่าในชุมชนไหนมีผู้ป่วย และจะรับสมัคร Care Giver เข้ามาอบรม จากนั้นจะมีการคัดกรองก่อน คือพูดคุยเพื่อดูว่ามีศักยภาพเป็นอย่างไร มีจิตใจที่จะช่วยเหลือ มีความเต็มใจมากน้อยขนาดไหน ถ้าดูแล้วพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก็จะจัดอบรมหลักสูตร 70 ชั่วโมง เมื่ออบรมเสร็จแล้วจะให้อุปกรณ์เบื้องต้น เช่น คู่มือการดูแลโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่พบเจอบ่อย อุปกรณ์เครื่องวัดความดัน อุปกรณ์กายภาพบำบัดเบื้องต้น เช่น ลูกบอลที่ให้ผู้ป่วยใช้บีบเพื่อบริหารกล้ามเนื้อมือ เป็นต้น

ปัจจุบัน เขตภาษีเจริญโซนทิศเหนือ มีผู้ป่วยติดเตียง 140 ราย มี Care Giver ที่ผ่านการอบรม 26 คน เฉลี่ยแล้ว Care Giver 1 คน จะดูแลผู้ป่วย 5 ราย โดยมีทีมพยาบาลที่ปรึกษา หาก Care Giver ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านแล้วมีข้อสงสัยก็สามารถโทรศัพท์หรือ LINE มาถามพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำ และในกรณีที่อาการค่อนข้างรุนแรง พยาบาลก็จะลงพื้นที่มาดูเองอีกที 

นพ.อรรถพล ยังกล่าวเชิญชวนประชาชนที่สนใจ อยากจะช่วยเหลือคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ที่เคลื่อนไหวลำบาก ผู้ป่วยติดเตียงต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นคนที่เป็นเพื่อนบ้านของท่าน อยู่ในชุมชนของท่าน อยู่ในบริเวณบ้านใกล้เรือนเคียงของท่าน ขอเพียงมีความตั้งใจที่จะช่วย มีเวลา และแล้วมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถติดต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านได้เลย กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุขประจำอยู่ทุกเขต ติดต่อที่ศูนย์ฯ แจ้งว่าอยากจะมาสมัครเป็น Care Giver เพื่อที่จะได้ช่วยดูแลคนไข้คนในชุมชนของท่านเอง ก็ขอเชิญชวน เพราะเป็นทั้งการช่วยชุมชนและยังได้บุญกับตัวท่านเองด้วย

ด้าน นางสุณี บุญเอี่ยม Care Giver ชุมชนแป๊ะกงร่วมใจ ซึ่งอยู่ในพื้นที่การดูแลของศูนย์บริการสาธารณสุข 47 กล่าวว่า ตนทำหน้าที่นี้มา 7 ปีแล้ว นอกจากเป็น Care Giver แล้วยังเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข และกรรมการชุมชนด้วย ทำให้เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน เวลามีปัญหาชาวบ้านก็จะคิดถึงตนก่อน

นางสุณี กล่าวต่อไปว่า การมี Care Giver ที่ทำงานร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก อย่างแรกคือถ้าประชาชนมีคำถามแล้ว Care Giver ตอบไม่ได้ ก็สามารถปรึกษาขอความรู้ไปที่ศูนย์ฯได้ และถ้าเกินศักยภาพของ Care Giver ทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ก็จะลงพื้นที่มาหาผู้ป่วยภายในวันนั้น และนอกจากดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถนำความรู้มาไปกับครอบครัว ตลอดจนให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่บ้านใกล้เรือนเคียงได้ 

“ดิฉันจะให้คำแนะนำเรื่องต่างๆผ่านทางไลน์แก่คนในชุมชน ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพ การตรวจสอบสิทธิ ช่องทางวิธีการใช้สิทธิบัตรทองรับการรักษาพยาบาล หน่วยบริการที่สามารถไปใช้สิทธิได้ ฯลฯ เปรียบเสมือนเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ ซึ่งการที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ อยากบอกว่า Care Giver ตั้งใจทำงานนี้เพื่อให้คนไข้และญาติมีความสุขในชีวิต เราทำแล้วรู้สึกปลื้มปิติเหมือนได้ทำบุญทำกุศล”นางสุณี กล่าว

นางดวงใจ นิมิตไพทูรย์ หนึ่งในประชาชนที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงและได้รับการดูแลจาก Care Giver กล่าวว่า มารดาของตนเป็นโรคความดันโลหิตสูง ป่วยติดเตียง รักษามานานหลายปี ช่วงแรกๆตนทำงานไปด้วยดูแลแม่ไปด้วย โดยจะดูแลในช่วงเช้าแล้วเข้างานสายหน่อย ซึ่งที่ทำงานก็อนุญาตให้ไปทำงานสายได้ และเมื่อเสร็จงานก็กลับมาดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำต่อ

อย่างไรก็ดี การที่ต้องออกไปทำงานไม่มีเวลาดูแลเต็มที่ ร่างกายของแม่ก็แย่ลง ข้อเข่าเริ่มขยับไม่ได้ สุดท้ายเลยตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลแม่ที่บ้านอย่างเดียว ปัจจุบันมีทีมพยาบาลและ Care Giver มาช่วยดูแลแม่ให้ถึงที่บ้าน มาช่วยเจาะเลือด วัดความดัน ฯลฯ ก็ทำให้ตนในความรู้ในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมาก เพราะถ้าจะพาแม่ไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข จะต้องให้หลานที่มีรถยนต์พาไปส่ง ไปถึงแล้วก็มีความลำบากในการยกขึ้นยกลงรถ แต่พอมีการดูแลถึงที่บ้านก็รู้สึกอุ่นใจและดีใจมาก ต้องขอขอบคุณที่มาช่วยดูแลอย่างเต็มที่และให้คำแนะนำดีๆให้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ยังไม่ได้เข้าสู่การดูแลด้วยกองทุน Long Term Care ที่ สปสช.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถโทร.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330

//////////////27 กุมภาพันธ์ 2567 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

Posted in สปสช.