สปสช. แจงแนวปฏิบัติผู้มีสิทธิบัตรทอง หากติดเชื้อ “โควิด-19” รับมือผู้ป่วยเพิ่มหลังสงกรานต์

สปสช. เตรียมพร้อมระบบรองรับ “ผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท” หากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังหยุดยาวสงกรานต์ แนะช่องทางเข้ารับบริการได้ทั้งที่ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” “พบแพทย์ออนไลน์กับ 4 แอปพลิเคชัน” และ “สถานพยาบาลประจำหรือหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่” พร้อมย้ำกรณีผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีแดงใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP เข้ารักษาได้ที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง     

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นวันหยุดยาว โดยมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อาจจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งขณะนี้ทั่วโลกมีการรายงานพบเชื้อโควิด-19 ลูกผสม โดยเฉพาะสายพันธุ์ XBB 1.66 ที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงในประเทศไทย ทำให้มีการเตือนให้เฝ้าระวังการติดเชื้อและเจ็บป่วย 

ในส่วนของ สปสช. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือในการดูแลคนไทย “สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง 30 บาท) ให้เข้าถึงการรักษา กรณีผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ มีไข้อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ตรวจ ATK และหากขึ้น 2 ขีดผลเป็นบวก ให้เข้ารับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบบริการที่ สปสช. ดำเนินการรองรับไว้ 

กรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียวอาการเล็กน้อย เข้ารับบริการ ดังนี้ 

1.ร้านยาคุณภาพของฉันให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย ขั้นตอนการรับบริการ ให้ญาติผู้ป่วยเดินทางไปที่ร้านยาที่เข้าร่วม พร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วยเพื่อใช้ยืนยันการรับบริการ จากนั้นเภสัชกรประจำร้านยาจะวีดีโอ คอล (VDO call) กับผู้ป่วยเพื่อซักถามอาการและในกรณีที่มีการจ่ายยา เภสัชกรจะแนะนำวิธีการใช้ยาด้วย พร้อมกับจ่ายยาโดยให้ญาตินำกลับไปให้ผู้ป่วย ซึ่งในระหว่างนี้ทางร้านยาฯ จะมีการถ่ายภาพการบริการและจ่ายยาเพื่อนำบันทึกในโปรแกรม Amed ใช้เป็นหลักฐานการให้บริการจริง และหลังจากให้บริการ 3 วัน เภสัชกรจะติดตามอาการผู้ป่วยเพิ่มเติม ตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197

2.พบแพทย์ออนไลน์ ส่งยาฟรีถึงบ้าน ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ผู้ป่วยจะได้รับการซักถามและจ่ายยาตามอาการ (หากอาการเข้าเกณฑ์จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์) ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถเลือกรับบริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันสุขภาพ ดังนี้ 

2.1 Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) โดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด รับผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @totale https://lin.ee/a1lHjXZn หรือสายด่วน 0620462944, 0618019577

2.2 แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด 
https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57 รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวและสีเหลือง รวมถึงกลุ่ม 608 ทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic

2.3 แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็มดี) โดย บริษัท ซาลูเบอร์เอ็มดี จำกัด 
www.telemed.salubermdthai.com รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี : @Sooksabaiclinic

2.4 แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด 
https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวเฉพาะพื้นที่ กทม. (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp

3.กรณีผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะเสี่ยงรุนแรง เป็นกลุ่ม 608 หรือมีโรคร่วม และมีอาการรุนแรงขึ้น (สีเหลือง) ได้แก่ 1.วัดไข้ได้ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงใน 1 วัน 2.วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94% 3.มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกำเริบของโรคประจำตัว 4.มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง  5.มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ 6.ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วงหรือชักจากไข้สูง เป็นต้น ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ประจำที่ท่านลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้แก่ศูนย์บริการสาธารณสุข (พื้นที่ กทม.) คลินิกชุมชนอบอุ่น สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชน

4.กรณีผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด-19 สีแดง มีอาการรุนแรง ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช๊อก/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เข้ารับบริการที่หน่วยบริการได้ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดเพื่อรักษาทันท่วงที โดยใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) 

หากมีข้อสงสัยการเข้ารับบริการ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เป็นเพื่อนที่ไลน์ OA สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือเข้าเว็บไซต์ของ สปสช. ที่ www.nhso.go.th หากหาเตียงไม่ได้ หรือหน่วยบริการเตียงเต็ม ให้ติดต่อสายด่วน 1330

นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธาณสุข สามารถไปตรวจ ATK ได้ฟรีที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำหรือที่หน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งจะได้รับการตรวจด้วย ATK professional use หรือตรวจโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากระบบรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ข้างต้นแล้ว เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19 ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง 608 ขณะนี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค เปิดให้ประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค  คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนฯ จะหมดลง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันยังช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยอาการของโรคได้ชัดเจน    

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงก์ https://lin.ee/nwxfnHw
3.แอปพลิเคชัน สปสช. ทั้งระบบ Android และ IOS

Posted in สปสช.